บทความ : แบ่งปันเคล็ดลับเลี้ยงลูกง่าย ฉบับแม่หวัน ep.4 หยุดบูลลี่ตั้งแต่ที่บ้าน

เยี่ยมชมโปรไฟล์
ผู้เขียน
แม่หวัน กันต์ญาณิน บุรพชนก
ระดับ : ผู้นำกลุ่ม



นึกย้อนไปถึงความทรงจำตอนเด็กแม่หวันมีคำเหล่านี้ผุดขึ้นมา “แกเป็นเด็กถูกเก็บมาจากใต้สะพาน” “มาแล้ว มาแล้ว เด็กขี้ร้อง” “เด็กขี้ใส่กระโปรง ยี้!” “เด็กหน้าดำ” เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นคำพูดแหย่กันตามประสาคนบ้านนอก แม้จะผ่านมาหลายสิบปี แต่มันก็ยังคงอยู่ในความทรงจำ!
โตขึ้นมาถึงเข้าใจว่าคำพูดเหล่านี้คือคำบูลลี่และพวกเรารู้กันดีว่ามันส่งผลต่อพฤติกรรม ภาวะอารมณ์ ระดับความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตัวเอง
มีหลายคนก้าวข้ามจุดที่จะเสียใจกับคำเหล่านี้ และอีกหลายคนที่กลายเป็นซึมเศร้า ผิดหวังกับชีวิตซ้ำแล้วซ้ำอีก
แม่หวันตั้งใจว่าจะหยุดการบูลลี่ตั้งแต่ที่บ้าน เพื่อให้ลูกได้มีสภาวะจิตใจที่เข้มแข็งและหากต้องรับมือกับการบูลลี่ในอนาคต ลูกจะผ่านไปได้ง่ายขึ้น
เมื่อลูกยังเล็ก ลูกควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ บอกไม่เป็น แม่จะเสริมแรงด้วยคำพูดที่ว่า อึได้เลยลูกแม่ใส่ผ้าอ้อมให้แล้ว อึเสร็จแล้วแม่จะล้างตัวทำความสะอาดให้นะ
โตขึ้นหน่อย ลูกหกล้มเป็นแผลถลอกบริเวณหน้าผาก แม่จะคอยแก้หากเพื่อนบ้านล้อว่า “ไม่สวยแล้ว” แม่จะบอกสำทับว่า “รอยประสบการณ์ค่ะ ลูกทำแผลทายาเองทุกวันเลย เดี๋ยวก็หาย” เมื่ออยู่กันสองคน แม่มักบอกว่า เป็นเด็กมีคอลลาเจนเยอะ เป็นแผลแป๊บเดียวก็หายแล้ว และลูกจะคอยสังเกตุ ดูแลความสะอาด แถมยังภูมิใจมากที่แผลหายเร็ว
การบูลลี่ตอนประถมศึกษาตอนปลาย ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก และความมั่นใจของลูกอย่างมาก เมื่อได้เปิดใจคุยกัน ลูกอยากรับมือกับเรื่องนั้นด้วยตนเอง แม่หวันปล่อยให้ลูกจัดการ
ในหลายโอกาสที่ลูกเจอการบูลลี่แต่ยังไม่พร้อมที่จะคุย แม่หวันแสดงให้เห็นว่าแม่รักลูกเสมอด้วยคำพูดและการกอด จนลูกได้คำตอบระดับหนึ่งแล้ว ก็กลับมาเล่าให้ฟังอย่างเปิดใจค่ะ
เมื่อลูกโตขึ้นจะเจอกับบูลลี่อีกเยอะมาก การสร้างพื้นฐานความรัก ความมั่นคง และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกกลับมาคุยได้มันคือดีที่สุด
พ่อแม่ท่านอื่นละคะ สร้างพื้นฐานหัวใจที่เข้มแข็งให้ลูกอย่างไรกันบ้างคะ