บทความ : แบ่งปันเคล็ดลับเลี้ยงลูกง่าย ฉบับแม่หวัน ep.2 ภาษารักเปลี่ยนชีวิต

avatar

เยี่ยมชมโปรไฟล์
ผู้เขียน
แม่หวัน กันต์ญาณิน บุรพชนก
ระดับ : ผู้นำกลุ่ม
0 0
วันที่ 2025-03-10 16:04:23

เคยสงสัยไหมว่าภาษารักที่ลูกมองหาเป็นอย่างไร? แล้วภาษารักของคุณล่ะ ตรงใจลูกหรือยัง?


ภาษารักของแม่หวันคือการ “กอด” ค่ะ


ย้อนกลับไปเมื่อลูกยังเป็นทารก เมื่อลูกร้องไห้แม่หวันจะกอดไว้กับอกนิ่งๆ ไม่เขย่า ไม่ตบก้น ลูกจะหยุดร้องทันที


เมื่อโตขึ้นหน่อย ลูกยืนให้กอดนิ่งๆ แต่ไม่เคยกอดกลับเลยสักครั้ง หัวใจแอบไหววูบเล็กๆ แต่ก็เข้าใจว่านี่อาจเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้


เมื่อลูกโกรธ แม่หวันจะกอดลูกไว้นิ่งๆ กับอก แม้ในยามโกรธลูกอยากผลักไสเรา อยากตีเรา ด้วยมือเล็กๆ นั้น แต่แม่หวันก็ยังกอดลูกด้วยความมั่นคง


พอเข้าระดับชั้นประถมศึกษา แม่ย้ายไปทำงานต่างจังหวัด ไม่ได้เจอกันทุกวันเหมือนเมื่อก่อน เมื่อกลับมาพบหน้ากัน ลูกเริ่มไม่ให้กอด ตอนแรกคิดว่าเป็นเพราะพัฒนาการตามวัย เลยเริ่มอ่านหนังสือเติมความรู้ เจอคำกล่าวที่ว่า ลูกเป็นกระจกเงาสะท้อนพ่อแม่ (คำกล่าวนี้มีที่มาจากแนวคิดทางจิตวิทยา Social Learning Theory ของ Albert Bandura ซึ่งอธิบายว่าเด็กเรียนรู้โดยการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด) แม่ผู้ซึ่งอยากให้ลูกกอดและแสดงความรักกับแม่ จึงไม่หยุดที่จะพยายาม ต้องเรียกว่าแม่ปรับใหม่ทั้งระบบ เช่น


-            แม่ดูแลตัวเอง ให้เวลาตัวเอง ทำให้ตัวเองอารมณ์ดี

-            แม่ดูแลลูก ให้พื้นที่ลูกได้เป็นตัวของตัวเอง

-            “กอด” สื่อความหมาย เช่นบอกรัก บอกคิดถึง หรือกล่าวชื่นชม พร้อมอ้อมกอดอุ่นๆ โดยทำทั้งในบ้านและที่สาธารณะ

-            บางครั้งแม่ก็ขอให้ลูกกอดคืนบ้าง เมื่อแม่แบ่งปันความรู้สึกกับลูกว่าวันนี้เหนื่อยจัง ต้องการพลังจากอ้อมกอดลูกมากๆ

-            ใช้เวลาคุณภาพด้วยกัน

-            สื่อสารกันอย่างธรรมชาติ ไม่ปรับเปลี่ยนความเป็นตัวเองทั้งของแม่และลูก


หลังจากนั้นไม่นาน ความพยายามก็ส่งผล อ้อมกอดของแม่ลูกเกิดได้บ่อยขึ้น อุ่นขึ้น และส่งพลังความรักให้กันและกันได้มากขึ้น


ปัจจุบันลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนต้น ก็ยังกอดและบอกรักกันได้ ลูกแบ่งปันความรู้สึก ความกังวลกับแม่ รวมไปถึงสามารถแบ่งปันเรื่องต่างๆ กันในทุกวันอย่างเป็นธรรมชาติ


ที่บ้านอื่นๆ ละคะ “ภาษารัก” เป็นอย่างไรบ้าง?




กดตรงรูปหัวใจ
แล้วแชร์เลย :